ปัญหาเท้าในคนไข้อัมพาตครึ่งซีก ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ผู้ป่วยเดินไม่ได้

ปัญหาเท้าในคนไข้อัมพาตครึ่งซีกเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมาก นอกจากที่จะเกิดขึ้นจากการเกร็งและความตึงตัวของกล้ามเนื้อแล้วก็ยังเกิดจากการดูแลและการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ปัญหาเท้าผิดรูปเป็นอย่างไรและเราจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง บทความนี้มีคำแนะนำ

 

ปัญหาเท้าที่พบในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกมีอะไรบ้าง

ปัญหาเท้าในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกมีหลายรูปแบบ แต่แบบที่เราเจอบ่อย ๆ มี 5 รูปแบบซึ่งเราจะเรียงตามลำดับความรุนแรงจากน้อยไปหามากดังนี้

-          Foot drop: ปลายเท้าตกจากกล้ามเนื้อ tibialis anterior อ่อนแรง

-          Claw toe and Hammer toe: เท้าจิก หงิกงอจากกล้ามเนื้อนิ้วเท้าตึงรั้ง

-          Equinus Deformity: ปลายเท้าจิกลงทำให้ส้นเท้าลอยจากพื้น จากกล้ามเนื้อน่องที่ตึงมากเกินไป

-          Equinovarus deformity: เท้างุ้มลงและบิดเข้าด้านในซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อน่องหดเกร็งและกล้ามเนื้อ tibialis post ดึงปลายเท้าให้เข้าด้านใน

-          Dorsiflexion Deformity: ปลายเท้าหงายขึ้นมากกว่าปกติ เกิดจากกล้ามเนื้อน่องอ่อนแรง หรือเส้นเอ็นหลังเท้าตึง


    

แล้วเท้ามีความสำคัญอย่างไรบ้าง ทำไมเท้าที่มีปัญหาถึงสร้างปัญหาให้กับคนไข้อัมพาต

 ต้องเข้าใจก่อนว่าในการยืนและการเดิน เท้าคือส่วนแรกของร่างกายที่สัมผัสพื้น เท้าที่มีปัญหาผิดปกติจะส่งผลกระทบต่อร่างกายทุกส่วนที่อยู่ด้านบน ไม่ว่าจะเป็นการปวดที่เท้าและข้อเท้าโดยตรงหรือปวดตามข้อต่อต่าง ๆ เช่นเข่า สะโพกหรือหลัง นอกจากนี้เท้าที่ผิดปกติยังทำให้คนไข้รู้สึกไม่มั่นคงในเวลาเดินและมีความเสี่ยงที่คนไข้จะเกิดอุบัติเหตุหรือหกล้มได้ง่าย เราจึงควรให้ความสำคัญกับเท้าตั้งแต่ในระยะแรก ๆ

 

เท้าที่ผิดปกตินี่มันมีสัญญาณเตือนก่อนล่วงหน้าไหม หรือว่าพอป่วยเป็นอัมพาตครึ่งซีกแล้วเท้าจะผิดปกติทันทีเลย

จริงๆ แล้วเท้าที่ผิดปกติมักจะเกิดขึ้นภายหลัง โดยมันจะค่อยๆ เกิดความผิดปกติขึ้นมาทีละน้อย ดังนั้นหากเราเริ่มเห็นสัญญาณของเท้าเช่นเริ่มเห็นเท้าจิกก็ต้องรีบแก้ไขทันที

แต่จริง ๆ แล้วต้นเหตุหลักของเท้าผิดรูปที่เรามักพบได้บ่อยก็คือการเดินที่ผิดปกติ การลงน้ำหนักที่ผิดปกติจนผู้ป่วยมีการเกร็งของกล้ามเนื้อขาและเท้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และพัฒนาจนกลายมาเป็นเท้าที่ผิดปกติได้

แต่สาเหตุอื่น ๆ ก็มีเช่นผู้ป่วยที่นอนติดเตียงเป็นเวลานานก็มีโอกาสทำให้เท้าผิดปกติได้เช่นกัน


แล้วเราจะแก้ปัญหาเท้าผิดปกติได้อย่างไรบ้าง

เราจะแบ่งเป็น 2 ระยะคือ

-          ระยะเริ่มแรกที่มีสัญญาณเตือนคือญาติ ครอบครัวหรือคนไข้เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติของเท้าตนเอง ในระยะแรกนี้ในทางกายภาพบำบัดเรามักจะใช้การยืดกล้ามเนื้อรวมถึงการยืดที่ตัวข้อต่อเพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการจัดน้ำหนักทั้งในท่ายืนและเดินของผู้ป่วยให้ถูกต้องก็จะช่วยแก้ไขปัญหาในระยะเริ่มแรกนี้ได้ นอกจากนี้ก็ให้เริ่มป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติทันทีหลังจากที่ทำการแก้ไขความผิดปกติไปแล้ว

 

-          ระยะที่เกิดความผิดปกติขึ้นแล้ว เราจะแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือหากเกิดความผิดปกติที่มากเกินไปและทางกายภ่าพบำบัดประเมินแล้วว่าไม่สามารถใช้วิธีการทางกายภาพบำบัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติได้ ในกรณีนี้ก็มักจะแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาของเราต่อไป ส่วนในกรณีที่แม้จะมีความผิดปกติเกิดขึ้นแต่หากประเมินแล้วว่าทางกายภาพบำบัดยังสามารถช่วยได้ ก็ยังคงต้องใช้วิธีการยืดกล้ามเนื้อรวมถึงการยืดที่ตัวข้อต่อเพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการจัดน้ำหนักทั้งในท่ายืนและเดินของผู้ป่วยให้ถูกต้อง นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยอย่าง AFO เพื่อช่วยบังคับตำแหน่งของเท้าให้กลับมาสู่ตำแหน่งที่ปกติ แต่การแก้ไขปัญหาเท้าที่ผิดปกติแล้วจะใช้ระยะเวลาในการแก้ไขที่นานกว่าและคนไข้บางรายก็ไม่สามารถกลับมามีเท้าที่เป็นปกติได้แต่ก็ยังพอให้คนไข้สามารถเดินได้โดยไม่เกิดอันตราย

 

ปัญหาของเท้าจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งตัวของผู้ป่วยและครอบครัวจำเป็นต้องให้ความสำคัญและควรป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติตั้งแต่แรก เพราะการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นนั้นง่ายกว่าที่จะปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นแล้วและมาทำการแก้ไขในภายหลัง

Visitors: 616,775