วางแผนฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกอย่างไรดีให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

เมื่อมีญาติหรือคนรู้จักเป็นอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง ความมืดแปดด้านไม่รู้จะทำอย่างไรดีย่อมจะเกิดขึ้นกับทุกคนในครอบครัว ทีแอนด์เอสกายภาพบำบัดเข้าใจถึงความทุกข์และความยากลำบากนั้นเป็นอย่างดี เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนการรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกว่าต้องทำอย่างไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบ

 

ความสำคัญของการวางแผนฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

การวางแผนการฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งหากครอบครัวและบุคลากรที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพย่อมจะส่งผลดีต่อการฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วย ดังนั้นกระบวนการที่สำคัญที่สุดจึงอยู่ที่การสื่อสารระหว่างครอบครัวและตัวของไข้กับทีมสหวิชาชีพที่เข้ามาร่วมกันฟื้นฟูผู้ป่วย โดยเราควรเน้นให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางของกระบวนการฟื้นฟูและมีการบูรณาการร่วมกันของทุก ๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องจึงจะทำให้การฟื้นฟูมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยต้องไม่ลืมว่าไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูร่างกายโดยเฉพาะทักษะการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่กิจกรรมการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันคือการทำงานร่วมกันของ “ทั้งร่างกาย” การประสานการทำงานระหว่างทีมสหวิชาชีพหรือระหว่างทีมสหวิชาชีพกับครอบครัวจึงควรต้องควบคู่กันไม่อาจแยกส่วนกันทำงานได้ จึงจะนำมาซึ่งความสำเร็จในการฟื้นฟูผู้ป่วยและช่วยให้พวกเขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ในที่สุด

 




ใครบ้างที่มีความสำคัญในการวางแผนการฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วย

1. ผู้ป่วย

 ผู้ป่วยคือศูนย์กลางของการวางแผนการฟื้นฟู

2. ญาติของผู้ป่วย/คนดูแลผู้ป่วย

 ญาติและคนดูแลผู้ป่วยมีความสำคัญในแง่ของผู้สนับสนุนซัพพอร์ตผู้ป่วย คอยช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยในด้านต่าง ๆ ระหว่างกระบวนการฟื้นฟูนี้ ในบางครั้งญาติหรือคนดูแลจำเป็นต้องช่วยผู้ป่วยตามโปรแกรมฟื้นฟูที่สหวิชาชีพได้วางแผนให้ระหว่างที่ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการฟื้นฟูมากที่สุด

3. แพทย์

 แพทย์จะมีส่วนสำคัญในการติดตามอาการและความก้าวหน้าในระหว่างการฟื้นฟู โดยจะมีบทบาทในแง่ของการดูแลสภาวะของโรคให้คงที่รวมถึงภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยรวมถึงการวางแผนการฟื้นฟูในด้านต่าง ๆ เพื่อให้การฟื้นฟูผู้ป่วยมีประสิทธิภาพสูงสุด

4. นักกายภาพบำบัด/นักกิจกรรมบำบัด

 นักกายภาพบำบัดและนักกิจกรรมบำบัดมีส่วนสำคัญในแง่ของการฟื้นฟูการเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยต้องเคลื่อนไหวในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมีหน้าที่ในการออกแบบโปรแกรมฟื้นฟูการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ

5. พยาบาล

 พยาบาลจะมีหน้าที่ในการติดตามอาการและความก้าวหน้าของผู้ป่วยและประสานงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพเพื่อให้โปรแกรมการฟื้นฟูผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากที่สุด

6. บุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

 - อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.): จะทำหน้าที่ในการเข้าไปช่วยดูแลผู้ป่วยตามโปรแกรมที่ได้รับมอบหมายจากทีมสหวิชาชีพ

- จิตแพทย์/นักจิตวิทยา: มีความสำคัญในการดูแลบำบัดจิตใจของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความรู้สึกท้อแท้หรือหมดกำลังใจ โดยจะทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพในการฟื้นฟูผู้ป่วยเช่นกัน

 

ขั้นตอนการวางแผนฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

1. การประเมินสภาวะของผู้ป่วย

การประเมินสภาวะของผู้ป่วยคือกระบวนการแรกสุดในขั้นตอนการวางแผนการฟื้นฟูผู้ป่วย โดยมีทั้งการประเมินอาการจากรอยโรครวมถึงการประเมินภาวะจากโรคประจำตัวที่ผู้ป่วยเป็น นอกจากนี้ยังมีการประเมินความบกพร่องทางความสามารถในการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยด้วยเช่นกันว่าผู้ป่วยมีความบกพร่องอยู่ในระดับใด มีความรุนแรงเพียงใด ในบางรายอาจมีการประเมินการบกพร่องในการสื่อสารรวมถึงสภาวะจิตใจของผู้ป่วยร่วมด้วย

2. การพูดคุยสื่อสารกับญาติและตัวของผู้ป่วย

ขั้นตอนการพูดคุยสื่อสารกับครอบครัวของผู้ป่วยมีความสำคัญ หลังจากการประเมินทีมสหวิชาชีพจะต้องมีการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับครอบครัวของผู้ป่วย การสื่อสารที่ดีจะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะของผู้ป่วยและทำให้การวางแผนการฟื้นฟูผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากที่สุด

3. การวางแผนการรักษาและการฟื้นฟูร่วมกัน

 - กำหนดเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว: เป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญในการวางแผน การกำหนดเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจะช่วยให้มองเห็นความก้าวหน้าของการฟื้นฟูผู้ป่วยได้ส่วนสำคัญในการปรับปรุงโปรแกรมการฟื้นฟูของผู้ป่วย

- ติดตามผลและประเมินผลการฟื้นฟู: การติดตามผลและการประเมินการฟื้นฟูจะต้องทำเป็นระยะ ๆ เพื่อดูความก้าวหน้าหรือหาสาเหตุที่ทำให้การฟื้นฟูไม่ก้าวหน้า เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโปรแกรมการฟื้นฟูให้เหมาะสมกับผู้ป่วยต่อไป

- หาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น: หากมีปัญหาเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการฟื้นฟูผู้ป่วย การหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญ ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นจากตัวของผู้ป่วยเองหรือภาวะของครอบครัว สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทีมสหวิชาชีพต้องค้นหาเพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

4. การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

 การปรับปรุงสภาพแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงทางเข้าออก การปรับปรุงห้องน้ำ หรือสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในบ้านเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะของผู้ป่วย สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของผู้ป่วยเช่นกัน

5. วางแผนเผื่อกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น

- เบอร์โทรฉุกเฉิน: ผู้ป่วยอัมพาตอาจมีเหตุฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดขึ้นได้ ดังนั้นครอบครัวจึงควรเตรียมความพร้อมไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินต่าง ๆ, หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างรวดเร็วที่สุด

 

สรุป

 การวางแผนการในการฟื้นฟูผู้ป่วยเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การฟื้นฟูผู้ป่วยมีประสิทธิภาพดังนั้นญาติ คนดูแลรวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเพื่อให้ผู้ป่วยมีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูร่างกายตนเองอย่างดีที่สุด

 

 

 


Visitors: 614,225