เมื่ออาม่าเป็นพาร์กินสัน
เมื่ออาม่าเป็นพาร์กินสัน
ในยุคนี้กระแสของละครเรื่อง “มาตาลดา”เป็นกระแสที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง จากเนื้อหาที่ทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกใจฟูในทุก ๆ ตอนที่ออกฉายโดยการเล่าเรื่องผ่านตัวละครเอกอย่างมาตาลดาและตัวละครตัวอื่น ๆ ซึ่งทำให้ผู้คนรู้สึกหลงรักและผูกพันกับทุก ๆ ตัวละครได้ไม่ยาก “อาม่าของมาตาลดา”ก็เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่เป็นที่รักของผู้ชมทุกคนในคาแรกเตอร์ของแม่และย่าผู้ใจดีของพ่อเกรซและมาตาลดา ดังนั้นในตอนล่าสุดที่อาม่าถูกตรวจพบว่าเป็น “พาร์กินสัน” จึงทำให้ผู้ชมหลายท่านเกิดความสงสารและหดหู่ใจไปด้วย แท้จริงแล้วพาร์กินสันคือโรคอะไรและดูน่ากลัวเพียงใดในวันนี้ ทีแอนด์เอสกายภาพบำบัดจะมาเล่าให้ทุกท่านฟังค่ะ
พาร์กินสันคืออะไร ?
พาร์กินสันคือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ผลิตสารสื่อประสาทที่ชื่อ โดปามีนจึงทำให้อาการแสดงในระยะเริ่มต้นของโรคก็คือ ผู้ป่วยจะมีอาการมือสั่นในขณะที่อยู่เฉย ๆ (เหมือนที่อาม่าของมาตาลดาเป็น) และเมื่อมีการดำเนินโรคไปเรื่อย ๆ เราจะพบว่าผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อตึงเกร็งรวมถึงการแสดงออกทางสีหน้าของผู้ป่วยจะลดลงซึ่งถูกเรียกว่า Mask face และเมื่อการดำเนินของโรคดำเนินไปเรื่อย ๆ ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาทางด้านการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการทรงตัวไม่ดี การเคลื่อนไหวลำบาก เคลื่อนไหวได้ช้าลงร่วมกับมีอาการหลังงอ ตัวห่อและเสี่ยงที่จะหกล้มได้ง่าย และสุดท้ายเมื่ออาการดำเนินของโรคไปจนถึงที่สุดก็มีแนวโน้มที่ผู้ป่วยจะกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในที่สุด
แต่อย่าเพิ่งตกใจเพราะกว่าที่ผู้ป่วยจะแย่ลงก็ใช้เวลาอีกหลายปี
แม้จะดูน่าตกใจแต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้พาร์กินสันไม่ได้ดูน่ากลัวเมื่อเทียบกับโรคทางระบบประสาทอื่น ๆ อย่างโรคหลอดเลือดสมองก็คือระยะเวลาในการดำเนินของโรคที่กินระยะเวลานานมากนับตั้งแต่ที่ตรวจพบอาการครั้งแรก ซึ่งหลาย ๆ รายกว่าที่จะเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายลำบากก็เป็นเวลาเกือบ 10 ปีหลังจากที่ทราบว่าตัวเองเป็นพาร์กินสัน ดังนั้นแม้อาการในบั้นปลายจะดูน่ากลัวแต่กว่าที่การดำเนินของโรคจะไปถึงจุดนั้นก็ยังพอที่จะมีเวลาที่จะชะลออาการออกไปได้อีกเพื่อให้ผู้ป่วยยังคงใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติได้นานที่สุดนั่นเอง
แล้วพาร์กินสันมีวิธีการรักษาอย่างไร
พาร์กินสันเป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มของ Progressive disease ที่อาการของโรคจะค่อย ๆพัฒนาแย่ลง ในปัจจุบันจึงยังไม่มีวิธีการรักษาที่ทำให้หายขาดจากโรค แต่ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้เรามีวิธีการที่จะชะลออาการของโรคให้ยืดออกไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการได้รับยาเพื่อเพิ่มปริมาณสารโดปามีนในร่างกาย การผ่าตัดเพื่อฝังขั้วไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นสมอง รวมถึงการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวที่เป็นปกติมากที่สุด
กายภาพบำบัดมีความสำคัญต่อพาร์กินสันอย่างไร
สำหรับในทางกายภาพบำบัดเรามีส่วนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคพาร์กินสันได้โดยตรงในแง่ของการทำให้ผู้ป่วยยังคงสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นปกติมากที่สุด โดยแนวทางการรักษาผู้ป่วยพาร์กินสันด้วยวิธีการกายภาพบำบัดมีดังนี้
- การยืดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะกลุ่มที่ทำหน้าที่ในการงอเพื่อเป็นการชะลอภาวะกล้ามเนื้อเกร็งแข็งของผู้ป่วยออกไปให้นานที่สุด
- การฝึกการทรงท่าและการทรงตัวเพื่อชะลอภาวะที่ผู้ป่วยจะเคลื่อนไหวร่างกายลำบากออกไปและลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะหกล้ม
- การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้กับผู้ป่วยเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและช่วยชะลออาการของโรคให้ออกไปให้นานที่สุด
- แนะนำวิธีการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะช่วยชะลออาการยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อลดสาเหตุของการหกล้มและลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับผู้ป่วย
พาร์กินสันยังไม่น่ากังวลเท่านั่ง ยืน เดินตัวงอ ตัวห่อ
พาร์กินสันมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุซึ่งมักจะพบว่าผู้สูงอายุหลายท่านมีปัญหาเรื่องการทรงท่าโดยมักจะนั่ง ยืน หรือเดินตัวห่อ ตัวงอซึ่งจะยิ่งทำให้อาการของโรคพาร์กินสันแย่ลงได้ อย่างเช่นอาม่าของมาตาลดาในเรื่องที่หากต้องการชะลออาการของพาร์กินสันออกไปก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการฝึกการจัดท่าทางและการทรงท่าให้อยู่ในท่านั่ง ยืน เดินตัวตรงให้มากที่สุดค่ะ