เมื่อนักกายภาพฯต้องถูกผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า(ตอนที่1)

 

เมื่อนักกายภาพฯต้องถูกผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

            จะเกิดอะไรขึ้นเมื่ออาจารย์วิยะดา ศักดิ์ศรี นักกายภาพบำบัดที่เคยแต่เป็นผู้ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวข้อเข่าหลังผ่าตัดให้กับคนอื่นมาทั้งชีวิตกลับเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจนต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าพร้อมกันทั้ง 2 ข้างเสียเอง จากความรู้ที่เคยใช้กับคนอื่นจนวันหนึ่งต้องนำความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาเดินได้อย่างเป็นปกติ กับเป้าหมายที่อยากเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง นี่คือบันทึกไม่ลับเมื่อนักกายภาพบำบัดต้องกลายเป็นผู้ที่ต้องถูกผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเสียเอง อาจารย์วิยะดาใช้วิธีการใดในการฟื้นฟูตัวเอง ทีแอนด์เอสกายภาพบำบัดจะนำเรื่องราวที่น่าสนใจของอาจารย์มาเล่าให้ฟังค่ะ

 

 

       “ดิฉันได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทั้งสองข้างพร้อมกัน จึงอยากมาเล่าประสบการณ์ ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดเผื่อว่าอาจมีประโยชน์สำหรับคนที่มีปัญหาเข่าและคิดอยากเปลี่ยนข้อเข่าแบบดิฉัน”

 

            ดิฉันต้องอยู่กับปัญหาปวดเข่ามาอย่างยาวนานตั้งแต่อายุเพียง 30 กว่าปีเท่านั้น จนภายหลังพบว่าสาเหตุที่แท้จริงของการปวดเข่ามาตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้งที่ไม่เคยมีการบาดเจ็บหรือได้รับอุบัติเหตุใด ๆ นั้นมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของเท้า  เพราะดิฉันเป็นคนที่มีฝ่าเท้าแบนทำให้การลงน้ำหนักผิดปกติจึงส่งผลต่อข้อต่อโดยเฉพาะข้อเข่าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อนานวันเข้าข้อเข่าจึงเริ่มมีการผิดรูป คือมีเข่าโก่งออก ดิฉันได้พยายามแก้ไขหลายอย่างทั้งการใส่ arch support ที่เท้า การออกกำลังกาย และใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเมื่อต้องเดินไกล ๆ แต่ด้วยปัญหาสุขภาพอื่น ๆที่ต้องได้รับยาที่มีผลทำให้เกิดปัญหาต่อกระดูกและข้อจึงทำให้การเสื่อมของข้อเข่าเกิดเร็วขึ้นและในที่สุดกระดูกอ่อนรองข้อก็สึกจนทำให้กระดูกท่อนขาชนกับกระดูกหน้าแข้ง ดังรูปเอ็กซเรย์และจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ดิฉันจึงเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเมื่อตอนอายุ 72 ปี

 

 

การผ่าตัดจะได้ผลดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ

  • ภาวะทั่วไปของผู้ที่จะต้องได้รับการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัวที่มีอยู่แล้วเช่น เบาหวาน โรคหัวใจ หรือมีข้อผิดรูปนอกเหนือจากข้อเข่า เช่น ข้อสะโพกติดตึง หลังงอ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
  • แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดโดยแพทย์ที่มีความชำนาญสูงจะทำให้การใส่ข้อเทียม และการจัดการกับเนื้อเยื่ออื่น ๆ มีความสมดุลมั่นคง ลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จึงควรหาข้อมูลเกี่ยวกับแพทย์ที่ท่านต้องการจะทำการผ่าตัดด้วยจะยิ่งสร้างความมั่นใจให้แก่ตัวของท่านมากขึ้น

  • ตัวผู้ที่จะรับการผ่าตัดเอง เพราะการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดจะมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการบริหารข้อเข่า ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมออย่างน้อย 2-3 เดือนหลังผ่าตัด หรือจนกว่าจะใช้เข่าได้ดี สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่หากผู้รับการผ่าตัดไม่ขยันและทำการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องโอกาสที่จะใช้ข้อเข่าให้ใกล้เคียงปกติจะลดลง

            

            หลังจากที่ตัดสินใจว่าจะต้องผ่าตัดข้อเข่าดิฉันได้หาข้อมูลตั้งแต่การเลือกแพทย์ที่มีความชำนาญ ข้อเทียมที่มีทั้งแบบ  standard และแบบพิเศษที่มีเคลือบหลายชั้น และมีความพิศษอื่นๆอีกและราคาก็จะเพิ่มขึ้นตามความพิศษ  ดิฉันเลือกแบบ standard เพราะดิฉันอายุกว่า 70 ปีแล้วไม่จำเป็นต้องใช้ข้อแบบสมบุกสมบัน แค่เดินไปที่ไหนก็ได้และท่องเที่ยวได้ก็พอเพียงแล้ว ไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ การเลือกโรงพยาบาลดิฉันตัดสินใช้โรงพยาบาลเอกชนของโรงเรียนแพทย์เพราะไว้วางใจอาจารย์แพทย์ รวมถึงหาข้อมูลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

 

 

สิ่งที่ควรเตรียมไปที่โรงพยาบาลคือ แผ่นเจลเย็นขนาดพันรอบเข่าได้คือ 6 X 22 นิ้ว อย่างน้อย 3 ชิ้น และคอกช่วยเดิน

 

เป้าหมายของดิฉันหลังผ่าตัดในขณะที่อยู่โรงพยาบาลได้แก่

  • ต้องเดินได้อย่างน้อย 10-20 เมตรภายใน 24 ชั่วโมงหลังออกจากห้องผ่าตัด
  • ต้องเหยียดเข่าได้ตรง จะต้องงอเข่าให้ได้อย่างน้อย 90 องศาภายใน 72 ชั่วโมงหลังผ่าตัด
  • ควบคุมอาการบวม

 

 


 

เเละหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเเล้ว อาจารย์วิยะดามีโปรเเกรมฟื้นฟูตัวเองอย่างไร ติดตามได้ในตอนต่อไปค่ะ

 

Visitors: 605,033