6 วิธีแก้ปัญหาแขนเกร็ง ติดตึงของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

     ปัญหาแขนเกร็ง ติดตึงเป็นปัญหาประจำที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยอัมพาตครี่งซีก และเชื่อไหมว่าผู้ป่วยที่มาหาเราส่วนมากก็มักต้องการให้เราช่วยแก้ไขปัญหานี้เช่นกัน จากประสบการณ์การแก้ปัญหาแขนติดตึงและเกร็งให้ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ในวันนี้เรามีคำแนะนำดี ๆ ที่เราเองใช้เสมอในการแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยมาฝากค่ะ

 

4 ปัญหาที่มักพบเมื่อผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกแขนเกร็ง ติดตึง

 

     - ทำให้ใช้แขนและมือไม่ได้เพราะอาการเกร็งและติดตึงจะไปขัดขวางการเคลื่อนไหวของมือและแขน

     - มีโอกาสเกิดความเจ็บปวดจากความพยายามยืดหรือง้างแขนและมือ รวมถึงความช่วยเหลือของญาติหรือผู้ดูแลเช่น การใส่เสื้อผ้า

     - มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันในกรณีที่แขนมีการเกร็งหรือติดตึงมาก ๆ เช่นการเคลื่อนย้ายตัว การสวมใส่เสื้อผ้าและการทำความสะอาดร่างกาย

     - ในกรณีเลวร้ายหากไม่ได้รับการแก้ไขก็มีโอกาสที่แขนข้างนั้นจะผิดปกติอย่างถาวร

 

6 แนวทางแก้ปัญหาแขนติดตึงและเกร็งในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

 

1. ยืดกล้ามเนื้อ หรือ Stretching เป็นวิธีการแก้ปัญหาหลักที่ถูกนำมาใช้ การยืดกล้ามเนื้อจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวและช่วยเพิ่มความยาวกล้ามเนื้อให้คืนสู่สภาพปกติ

2. การยืดกล้ามเนื้อในชั้นลึก: วิธีการนี้เรียกว่า Myofascial release เป็นการยืดที่ลงลึกไปถึงระดับพังผืดของกล้ามเนื้อ จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อคลายความตึงและเกร็งมากกว่าการยืดกล้ามเนื้อปกติ

3. การจัดท่าทางและฝึกลงน้ำหนักให้ถูกต้อง: จากการสังเกตมาอย่างยาวนาน เราพบว่าหากผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกมีท่าทางและการลงน้ำหนักที่ไม่ถูกต้องเช่น นั่งตัวเอียง ยืนไม่ตรงหรือเดินไม่ดี สิ่งเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้แขนและมือของผู้ป่วยมีการเกร็งและติดตึงมากขึ้น จึงควรทำการฝึกฝนจัดท่าทางและลงน้ำหนักให้ถูกต้องด้วยเช่นกัน

4. หลีกเลี่ยงการใช้มือที่ผิดวิธี: เราเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยที่อยากใช้มือจึงพยายามขยับเขยื้อนมือและแขนด้วยตนเอง แต่การทำเช่นนี้อาจไปกระตุ้นรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ผิดเช่น การยักไหล่แทนการยกแขน หรือฝึกกำโดยไม่ฝึกแบมือ การทำเช่นนี้จะยิ่งทำให้แขนเกร็งและติดตึงได้ง่ายขึ้น

5. เน้นการฝึกฝนการใช้มืออย่างถูกต้อง: การฝึกการใช้มืออย่างถูกต้องนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยเริ่มเรียนรู้วิธีการเคลื่อนไหวแล้ว ก็มีส่วนสำคัญในการลดเกร็งและลดการติดตึงด้วยเช่นกัน เพราะร่างกายจะเรียนรู้การใช้แรงที่เหมาะสมที่จะไม่ไปกระตุ้นการเกร็งนั่นเอง

6. การใช้อุปกรณ์ช่วยยืดมือและแขน: ในกรณีที่มือและแขนมีการเกร็งหรือติดตึงมาก การใช้อุปกรณ์จะช่วยให้แขนและมือของผู้ป่วยมีโอกาสได้ความยาวกล้ามเนื้อกลับคืนมาและยังช่วยให้อาการเกร็งของผู้ป่วยลดลงด้วยเช่นกัน

 

 

คลินิกทีแอนด์เอสกายภาพบำบัด เรามีโปรแกรมการฝึกและฟื้นฟูแขนและมือของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกเพื่อช่วยแก้ปัญหาการเกร็งและลดการติดตึงที่มักพบในผู้ป่วยร่วมกับการฝึกฝนเพื่อให้แขนและมือมีโอกาสกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ด้วยโปรแกรมการฝึกที่เน้นการป้องกันสาเหตุของการเกร็งและติดตึง รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้ฝึกฝนการใช้มืออย่างต่อเนื่อง เพราะเราเข้าใจดีถึงปัญหาและความรู้สึกของผู้ป่วยที่อยากมีโอกาสใช้มือและแขนได้อีกครั้ง โปรแกรมที่เข้มข้นนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกที่เราใช้ฝึกฝนผู้ป่วยมาโดยตลอดเพื่อหวังให้พวกเขากลับไปใช้ชีวิตที่มีความสุขอีกครั้ง :)

           

 

 

 

Visitors: 595,645