Q: การปั่นจักรยานจะช่วยทำให้ขาแข็งแรงขึ้นหรือไม่

A: 

          เมื่อพิจารณาจากรูปแบบการเคลื่อนไหวของขาในการปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกายขากับกิจกรรมการเดินในชีวิตประจำวัน ทั้งสองกิจกรรมมีการใช้งานกล้ามเนื้อและรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ต่างกัน แม้ว่าการปั่นจักรยานจะทำให้กล้ามเนื้อขาบางส่วนแข็งแรงขึ้นแต่ยังไม่ดีพอที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้เป็นปกติ 

         จักรยานเพื่อใช้ในการออกกำลังกายมักเป็นเครื่องออกกำลังกายที่เพิ่มน้ำหนักแรงต้านได้ หากผู้ป่วยได้รับแรงต้านที่มากเกินไปไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยก็จะไปกระตุ้นอาการเกร็งในผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยต้องพยายามออกแรงถีบเพื่อสู้กับแรงต้านนั้น และเราไม่อาจวัดได้ว่าผู้ป่วยใช้แรงจากขาข้างที่อ่อนแรงเพราะบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยใช้แรงจากขาข้างดีในการปั่น 

         หากมองจากรูปแบบการใช้งานกล้ามเนื้อการปั่นจักรยานและการเดินกล้ามเนื้อที่ใช้ต่างกัน การปั่นจักรยานจึงไม่อาจเทียบกับการออกกำลังกายขาที่ผู้ป่วยต้องลงน้ำหนักบนขาตนเองเพื่อออกกำลังกายขา แต่ใช่ว่าจักรยานจะไม่มีข้อดีเพราะในการปั่นแบบไม่มีแรงต้าน การปั่นแบบนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีการขยับขาของตนเองซึ่งช่วยรักษาช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อในระดับหนึ่ง 

         แต่ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในการปั่นจักรยานชนิดที่มีแรงต้านคือช่วยเพิ่มความแข็งแรงของปอดและหัวใจของผู้ป่วย     ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกนอกจากจะสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวแล้ว ความทนทานของปอดและหัวใจก็จะลดลงส่งผลให้ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตนเองเหนื่อยง่าย ไม่ว่าจะในขณะออกกำลังกาย ขณะเดินหรือขณะทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน การปั่นจักรยานมีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทานของปอดและหัวใจ 

        โดยการออกกำลังกายที่แนะนำโดยใช้จักรยานเป็นหลักก็คือ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก โดยต้องคำนึงถึงอาการของผู้ป่วย อายุ และพื้นฐานสุขภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก ก่อนออกกำลังต้องคำนึงถึงอัตราการเต้นหัวใจเพื่อให้ทราบถึงสภาวะของผู้ป่วยในขณะนั้น ไม่ควรปล่อยผู้ป่วยทิ้งไว้เพียงลำพังเพราะอาจเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยได้ สำหรับระยะเวลาที่เหมาะสมจะขึ้นกับสภาวะของผู้ป่วยเป็นสำคัญแต่อาจทำได้ถึง 30-45 นาทีหากผู้ป่วยแข็งแรงพอ

Visitors: 596,072